กูดหางค่าง ๑

Bolbitis heteroclita (C.Presl) Ching ex C.Chr.

ชื่ออื่น ๆ
กูดเป้า, กูดเป้าหลวง, กูดหางนกกะลิง (เหนือ)
เฟิร์นขึ้นบนดินหรือขึ้นบนหินที่มีดินปกคลุม เหง้าทอดยาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบที่สร้างอับสปอร์เรียวยาวกว่าใบที่ไม่สร้างอับสปอร์ มีใบย่อย ๑-๒ คู่ รูปขอบขนานขอบเรียบ หรือเป็นคลื่นตื้น ๆ ใบย่อยที่ปลายมักคอดยาวคล้ายหางและมีตาเจริญเป็นต้นใหม่ได้ กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นพืดบนใบย่อยด้านล่าง

กูดหางค่างชนิดนี้เป็นเฟิร์น เหง้าทอดขนานยาว มีเกล็ดสีเข้มเกือบดำ รูปแถบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม.

 ใบเดี่ยวหรือใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบสร้างอับสปอร์และใบไม่สร้างอับสปอร์มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน

 ใบไม่สร้างอับสปอร์มีก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ใบย่อย ๑-๒ คู่ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. โคนสอบ ก้านสั้น ปลายเป็นติ่งยาว ๔-๗ ซม. ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นตื้น ๆ ใบย่อยที่ปลายรูปขอบขนานปลายมักคอดยาวคล้ายหาง ส่วนหางยาว ๕๐-๘๐ ซม. แกนกลางแผ่เป็นครีบ บางครั้งปลายใบเจริญเป็นต้นใหม่ได้เส้นใบเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบบางเรียบ สีเขียวเข้มซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อใบแห้ง

 ใบสร้างอับสปอร์มีก้านใบยาวกว่าใบไม่สร้างอับสปอร์ เล็กน้อย ใบย่อยมีได้ถึง ๔ คู่ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๗ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. ใบย่อยที่ปลายใหญ่กว่าใบย่อยอื่น ๆ กลุ่มอับสปอร์เรียงทั่วไปบนแผ่นใบย่อยด้านล่าง

 กูดหางต่างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนพื้นดินหรือตามก้อนหินที่มีดินปกคลุมในบริเวณที่อื่น ๆ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไต้หวัน อินเดียตอนเหนือ พม่าตอนเหนือ หมู่เกาะริวกิว ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหางค่าง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bolbitis heteroclita (C.Presl) Ching ex C.Chr.
ชื่อสกุล
Bolbitis
คำระบุชนิด
heteroclita
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Presl, Carl (Karl, Carel, Carolus) Borivoj (Boriwog, Boriwag)
- Ching, Ren Chang
- Christensen, Carl Frederik Albert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Presl, Carl (Karl, Carel, Carolus) Borivoj (Boriwog, Boriwag) (1794-1852)
- Ching, Ren Chang (1898-1986)
- Christensen, Carl Frederik Albert (1872-1942)
ชื่ออื่น ๆ
กูดเป้า, กูดเป้าหลวง, กูดหางนกกะลิง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด